ในความเห็นของผม หมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าเบื่อเลยครับ ถึงแม้ที่บริเวณนั้นจะไม่ค่อยเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์เยอะแยะมากมายเท่าบริเวณอื่น ๆ ในอยุธยาก็ตาม(ไม่มีซากอิฐ ซากหิน ฯลฯ) แต่ผู้ดูแลก็สามารถจัดให้บริเวณนั้นเป็นสถานที่ที่น่าท่องเที่ยว น่าไปศึกษาหาความรู้ และจริง ๆ สามารถไปพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วยครับ ที่บอกว่าหมู่บ้านญี่ปุ่นไม่น่าเบื่อก็เพราะว่า ภายในตัวหมู่บ้านญี่ปุ่นเอง นอกจากการให้นักท่องเที่ยวอ่านข้อมูลทางประวัติศาสตร์ตามป้ายแบบสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีการเปิดวีดีโอในห้องชมภาพยนตร์เล็ก ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้รับชมอีกด้วย ซึ่งวีดีโอดังกล่าวจะเล่าถึงภาพรวมของกรุงศรีอยุธยาในอดีต ทั้งในเรื่องของการที่อยุธยาเคยเป็นเมืองท่าสากล มีทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกเข้ามาทำการติดต่อทำการค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมไปถึงด้านการเมืองและการทูต นอกจากนั้นก็ยังมีแผนที่ แสดงเส้นทางการเดินเรือจากตะวันตกมาสู่อยุธยา รวมถึงจากญี่ปุ่นมาสู่อยุธยาอีกด้วย ภาพจาก ย้อนอดีต “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ชุมชนต่างชาติบนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะมีการจัดแสดงเกี่ยวกับออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ นางามาซะ ขุนนางชาวญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา หัวหน้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น รวมถึงจัดแสดงเกี่ยวกับท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) ลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส – ญี่ปุ่น (มีหุ่นขี้ผึ้งท้าวทองกีบม้าด้วย เหมือนคนจริงมาก ๆ ) ท้าวทองกีบม้าคนนี้แหละที่เราเชื่อกันว่าเป็นต้นตำรับขนมพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหมู่บ้านญี่ปุ่นก็คือ บริเวณหมู่บ้านญี่ปุ่นนั้นเป็นสถานที่ที่ร่มรื่นเป็นอย่างมากครับ ด้วยสวนสไตล์ญี่ปุ่นที่ออกแบบโดย นายฮิโรฮิสะ นาคาจิมา รูปแบบสวนนั้น “เน้นความเป็นญี่ปุ่นแท้ ดูสง่างาม สงบ เยือกเย็น มีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ “ศาลาญี่ปุ่น” ซึ่งสวนและศาลาญี่ปุ่นนี้ “ยังสะท้อนภาพของแม่น้ำและทิวทัศน์ท้องทะเลของประเทศญี่ปุ่น อันเป็นถิ่นกำเนิดของชาวญี่ปุ่นที่มาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา” นักท่องเที่ยวสามารถเดินพักผ่อนหย่อนใจ ดื่มด่ำบรรยากาศของริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มที่ เหมือนไปเดินเล่นในสวนสาธารณะยังไงก็ไม่ปาน ภาพจาก ย้อนอดีต “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ชุมชนต่างชาติบนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา หมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้มีค่าเข้าชมเพียงท่านละ 50 บาทเท่านั้นครับ ที่จอดรถก็มีให้อย่างเพียงพอแน่นอน เพราะนักท่องเที่ยวที่มาที่นี่จะไม่ได้หนาตาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ที่สังเกตจะเป็นคนญี่ปุ่นและคนที่สนใจในประวัติศาสตร์จริง ๆ ถึงจะมาที่นี่ ภาพจาก ย้อนอดีต “หมู่บ้านญี่ปุ่น” ชุมชนต่างชาติบนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา